อัตตโนประวัติ พระโสภณภาวนาวิเทศ
ชาติภูมิ
นามเดิมชื่อ แดเนียล โจนส์ เกิดที่ประเทศอังกฤษ 1 ตุลาคม 2505
อุปสมบท
ชื่อ พระแดเนียล ฉายา กลฺยาโณ พระอุปัชฌาย์ พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต) วัดป่าวิเวก จังหวัดอุบลราชธานี พระกรรมวาจาจารย์ พระโพธิญาณวิเทศ (รีด เพอรี ปสันโน) วัดป่านานาชาติ จ. อุบล พระอนุสาวนาจารย์ พระครูภาวนานุกิจ (วิลัย ทีปธมฺโม)
วัดป่านานาชาติ จ. อุบล พระอนุสาวนาจารย์ พระครูภาวนานุกิจ (วิลัย ทีปธมฺโม) จังหวัดลำพูน อุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2528 ณ วัดหนองป่าพง ตำบลโนนโหน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
สาเหตุการอุปสมบท
อาตมาเป็นชาวอังกฤษ เกิดและเติบโตที่ประเทศอังกฤษ ครอบครัวเป็นชาวคริสต์ แต่พออายุได้ประมาณ 15 ปี ก็เริ่มมีความคิดว่าความหมายของชีวิตคืออะไร จึงได้เริ่มศึกษาคำสอนต่างๆ จากหลายๆศาสนา ทั้งคริสต์ ฮินดู อิสลาม และก็ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธในห้องสมุด เพราะอ่านแล้วก็รู้สึกแล้วว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ามีเหตุผลดี โดยเฉพาะคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 และแนวทางปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ จึงเกิดศรัทธามาก อ่านแล้วก็อยากหาทางศึกษาต่อ มีอยู่วันหนึ่งบังเอิญได้เปิดทีวี และดูรายการ BBC เขาทำสารคดีเกี่ยวกับหลวงพ่อชา ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น เพราะมีลูกศิษย์เป็นฝรั่ง รายการได้สัมภาษณ์ชีวประวัติและการใช้ชีวิตในป่าของหลวงปู่ชาและพระเณรที่วัดหนองป่าพง ได้เห็นหลวงปู่ชาครั้งนั้นเป็นครั้งแรก ก็ประทับใจมากว่า ยังมีพระดีที่ใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ในโลกด้วย ใช้ชีวิตอยู่ในป่า ฉันข้าวมื้อเดียว ไม่จับเงิน อยู่ง่ายๆ เห็นวิถีชีวิตของพระสงฆ์วัดป่าแล้วก็ประทับใจอย่างยิ่ง เพราะไม่คิดว่าจะมีพระสงฆ์ใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ในโลกปัจจุบันแล้ว คิดว่าคงมีแค่เฉพาะในสมัยพุทธกาล
แสวงหาโมกธรรม
เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นอายุได้ 18 ปี ก็มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องกับสมาคมพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้น จนกระทั่งขึ้นปีสอง อาจารย์ที่สอนเห็นว่าอาตมามีศรัทธาจริงต่อพระพุทธศาสนา ก็เลยแนะนำให้เดินทางไปหาครูบาอาจารย์ที่ประเทศไทย เพื่อที่จะได้รับการสอนเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะว่าในสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ในประเทศอังกฤษ อาตมาจึงเดินทางมาประเทศไทยและศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์ราชวรวิหารอยู่ระยะหนึ่ง และพระอาจารย์ที่นั่นได้แนะนำให้เดินทางไปหาหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
ในปี พ.ศ.2526 อาตมาเดินทางไปพักอยู่ที่วัดป่านานาชาติ และมีโอกาสไปกราบหลวงปู่ชาที่วัดหนองป่าพงซึ่งขณะที่พบท่านก็ระลึกขึ้นได้ว่าหลวงปู่ชาท่านนี้เป็นพระสงฆ์รูปเดียวกันกับที่เราเห็นในรายการทีวีเมื่อครั้งนั้น แต่น่าเสียดายว่าตอนที่อาตมาไปพบหลวงปู่ชานั้น ท่านได้เริ่มมีอาการอาพาธและเริ่มที่จะพูดไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกโชคดีที่ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่รักษาข้อวัตรปฏิบัติและแนวคำสอนของท่านไว้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้อาตมายังได้มีโอกาสอ่านหนังสือธรรมะของท่านที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ
ในปีนั้น อาตมาได้อยู่บำเพ็ญภาวนาเป็นผ้าขาวถือศีล 8 ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชาและเริ่มฝึกเรียนภาษาไทยไปพร้อมกัน สาหตุที่ตั้งใจที่จะเรียนภาษาไทยตั้งแต่แรก ก็เพราะอยากจะเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งในคำสอนของหลวงปู่ชา จึงได้ฝึกฟังเทปและอ่านหนังสือภาษาไทย
จากที่มีโอกาสได้พบกับครูบาอาจารย์ลูกศิษย์หลวงปู่ชา ทั้งพระไทยและพระชาวต่างชาติที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายรูป อาตมาจึงได้เกิดศรัทธาที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มั่นใจในการปฏิบัติของตัวเอง แต่ก็มีความมั่นใจในขณะทำหลวงปู่ชา และมั่นใจในแนวคำสอนของท่านว่าเป็นแนวปฏิบัติที่จะพาเราไปสู่ความหลุดพ้นได้จริง จึงได้มีศรัทธาพอที่จะลองบวชดูและหลังและหลังจากได้ผ่านการฝึกอบรมเป็นผ้าขาวและสามเณรแล้ว จึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดหนองป่าพง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528
ความประทับใจ
ตั้งแต่ที่ได้พบกับหลวงปู่ชา ได้อ่านหนังสือธรรมะของท่าน อาตมาไม่เคยมีความสงสัยในตัวท่านอาจารย์หรือธรรมะของท่านเลย จึงไม่คิดที่จะไปแสวงหาครูบาอาจารย์อื่น ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายท่าน แต่เมื่อได้พบหลวงปู่ชาเป็นครูบาอาจารย์ท่านแรกแล้ว ก็มีความพอใจในธรรมะของท่าน แม้ว่าการปฏิบัติจะมีอุปสรรคเป็นธรรมดา แต่อาตมาก็มีความรู้สึกปิติพอใจที่จะปฏิบัติตามรอยของท่านและไม่สงสัยในการปฏิบัติ
ช่วงที่บวชใหม่ๆอาตมามีโอกาสใช้เวลาอยู่กับหลวงปู่ชามาพอสมควร เพราะได้สมัครเข้าไปอุปัฏฐากท่านที่วัดหนองป่าพงเป็นประจำ ถึงแม้ว่าตอนนั้นท่านจะพูดไม่ได้ แต่อาตมาก็รับรู้และสัมผัสได้ว่าจิตใจของท่านมีพลังบริสุทธิ์ ท่านมีอารมณ์เยือกเย็นน่าเคารพศรัทธา ถึงแม้จะมีทุกขเวทนาและร่างกายกำลังเสื่อมสภาพ แต่อาตมารู้สึกได้ว่าจิตใจของท่านไม่ได้ยึดติดในทุกขเวทนาที่กำลังประสบอยู่ และท่านก็ไม่ได้แสดงว่ากำลังทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ ตลอดเวลาที่อยู่ใกล้ชิดปฏิบัติอุปัฏฐาก ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้พิจารณาคำสอนของท่านที่ว่า ทุกคนมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา แต่ถ้ามีสติปัญญารู้เท่าทัน จิตใจก็ไม่ต้องทุกข์กับความจริงอันนี้
นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่อยู่ใกล้ชิดท่าน อาตมาได้มีโอกาสพิจารณาถึงปฏิปทาและกิจวัตรของท่านที่ฝากไว้กับลูกศิษย์ลูกหาให้เป็นที่ศึกษาและปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อาตมาพยายามอุปัฏฐากดูแล ดูท่านเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามดูแลจิตในตัวเองให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ มีความประทับใจและมีความรู้สึกว่าท่านมีเมตตาต่อลูกศิษย์ ถึงแม้ท่านป่วยอยู่ก็ยังสอนลูกศิษย์ได้ เช่น อาจมีบ้าง บางครั้งที่เรานวดถวายท่าน แล้วเผลอสติ ส่งจิตออกนอกกาย เหมือนท่านรู้ ท่านจะดึงแขนทันที เราก็จะรู้สึกมีสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันอีกครั้ง หรือบางครั้งพระสองรูปเผลอสติคุยกันเสียงดัง ท่านก็จะส่งเสียงกระแอมขึ้น เป็นเหตุให้พระทั้งสองต้องหยุดพูดทันทีและหันกลับมาดูท่าน
ตลอดเวลาที่อาตมาได้รับใช้อุปัฏฐากหลวงปู่ชา อาตมารู้สึกได้ถึงความเสียสละด้วยใจเมตตาของท่านที่มีต่อลูกศิษย์ลูกหาโดยการประคองสังขารของท่านไว้ด้วยการมีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งทางใจของหมู่คณะพระเณรและญาติโยม ถึงแม้จะต้องรับความทรมานทางกาย แต่เพราะความหวังดีต่อลูกศิษย์ลูกหา ท่านจึงสู้อุตส่าห์อดทนมีชีวิตอยู่ต่อมาอีกหลายปี และนี้ก็เป็นการสอนให้เรามีความอดทน ซึ่งเราทุกคนก็ทราบว่าท่านมีความอดทนสูงสุดแล้ว และท่านก็สามารถที่จะถ่ายทอดให้เรามีความอดทนตามท่านด้วย
อาตมารู้สึกประทับใจกับคำสั่งสอนของหลวงปู่ชา ที่ท่านสามารถนำเอาเรื่องลึกซึ้งที่อาจจะเข้าใจยากมาสอนให้เข้าใจง่าย และรู้สึกว่าโชคดีที่มีโอกาสได้ศึกษาคำสอนของท่านอย่างใกล้ชิด เพราะอาตมามีโอกาสได้แปลกัณฑ์เทศน์หลายๆกัณฑ์ของท่านจากไทยเป็นอังกฤษ และที่เป็นประโยชน์ที่สุดคือการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างศีลกับสมาธิกับปัญญา ท่านอธิบายมาตลอดให้เห็นความสำคัญที่จะมีศีล มีวินัยในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาตมาเป็นชาวต่างชาติและไม่ค่อยได้รับการอบรมในสิ่งเหล่านี้เท่าไรนัก แต่ท่านย้ำในเรื่องการมีศีลมีข้อวัตรปฏิบัติส่วนตัว เพราะว่าจะเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ ถ้าไม่มีศีล สมาธิก็เกิดไม่ได้ นอกจากนั้นท่านจะเน้นให้เข้าใจว่าสมาธิคือพื้นฐานให้เกิดปัญญา ท่านสอนให้พยายามสร้างความสงบในใจด้วยการบริกรรม ภาวนาพุทโธ หรืออานาปานสติ เมื่อจิตสงบแล้วให้พิจารณาว่าขันธ์ 5 นี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ความประทับใจในครั้งแรกที่ได้ฟังธรรมหลวงปู่ชา คือเรื่องที่ท่านสอนให้เราพิจารณาเห็นตัวเองเป็นกระดูก เห็นเพื่อนเป็นโครงกระดูก เพราะว่าอาตมาเคยอ่านพระสูตรแล้วพยายามปฏิบัติ พิจารณากายเป็นกระดูกเมื่อสมัยเป็นฆราวาส พอได้มาพบหลวงปู่ชา ท่านก็สอนเหมือนๆกัน คือให้เราเห็นกายนี้เป็นกองอสุภะ ซึ่งก็คือว่างจากความเป็นตัวเป็นตน แนวคำสอนของท่าน สอนให้เราหาทางปล่อยวางอุปาทานออกจากใจให้ได้ ท่านมีพรสวรรค์ในการชี้นำให้เราเห็นโทษของกิเลส และหาอุบายละกิเลสจนได้
ประวัติการจำพรรษา
พ.ศ. 2528 จำพรรษาที่วัดปานานาชาติ บ.บุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. 2529 จำพรรษาที่วัดป่าโพธิ์สุวรรณ บ.นาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. 2530 จำพรรษาที่วัดปานานาชาติ บ.บุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. 2531 จำพรรษาที่วัดจิตตภาวนา (ฟ้าคราม) ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
พ.ศ. 2532-2533 จำพรรษาที่วัดปานานาชาติ บ.บุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ. 2534 จำพรรษาที่ป่าเขาแห่งหนึ่ง อ.ละแม จ.ชุมพร
พ.ศ. 2535-2543 จำพรรษาที่วัดมาบจันทร์ (สุภัททะบรรพต) ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง
พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน จำพรรษาที่วัดพุทธโพธิวัน เมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย